“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน มิ.ย. มูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 23.17% ลดลงมากสุดในรอบ 131 เดือน หลังโดนพิษโควิด–19 เล่นงานเต็มๆ เว้นสินค้ากลุ่มอาหาร ของใช้ในที่ทำงาน–ที่บ้าน และสินค้าป้องกันโรค ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ย้ำส่งออกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังฟื้นตัวดีขึ้น หากไม่เจอระบาดรอบ2 คาดทั้งปี อาจจะติดลบ 8% ถึงลบ 9% จากเดิมคาดลบ 6%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน มิ.ย.63 การส่งออกมีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 23.17% เทียบกับเดือน มิ.ย.62 ถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนนับจากเดือน ก.ค.52 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 520,608 ล้านบาท ลดลง 23.06% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 14,833.9 ล้านเหรียญฯ ลดลง18.05% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 475,987 ล้านบาท ลดลง 17.94% เกินดุลการค้า 1,610.4 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 44,621 ล้านบาท
ส่วนในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 63การส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญฯ ลดลง 7.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 3.562 ล้านล้านบาท ลดลง 8.29% การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญฯ ลดลง 12.62%คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 3.269 ล้านล้านบาท เกินดุลการค้า 10,701 ล้านเหรียญฯ หรือ 293,152.2 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง ยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อาจทำให้หลายประเทศล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก, ราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่า กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
ขณะที่สินค้าส่งออกยังคงหดตัว โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน แต่อิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหารขยายตัวได้ดีจากความ ต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารทะเล ไก่สด สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ผัก และผลไม้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรค เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นสหรัฐฯ กับจีน ที่กลับมาส่งออกเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 14.5% และ 12% ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่น ลด 21.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 22.7% อาเซียน (5 ประเทศ) ลด 38.8% CLMV ลด 17.8% อินเดีย ลด 63.1% ฮ่องกง ลด 32.3% เกาหลีใต้ ลด 22% ไต้หวัน ลด 13.3% เป็นต้น
“แม้มูลค่าส่งออกไทยติดลบมาก แต่หลายสินค้า และหลายตลาดมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวในแดนบวก อีกทั้งยังมีสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มดี อย่างอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน
เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ของใช้ในที่ทำงาน ในบ้าน สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโรค อย่างถุงมือยาง ขณะที่การส่งออกไปคู่ค้า อย่างจีน สหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ส่วนคู่ค้าอื่นๆ ที่เศรษฐกิจยังไม่ดี แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง
เช่น สหภาพยุโรป จึงเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย อีกทั้งการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ คาดว่าส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่เดือนที่แล้ว และน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากนี้”
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงการส่งออกทั้งปีของไทยว่า ประเมินว่าจะติดลบมากขึ้นเป็น ลบ 9% ถึงลบ 8% จากก่อนหน้าคาดลบ 6% โดยต้องยอมรับความจริงว่า จะไม่ขยายตัวเป็นบวกอย่างที่คาดการณ์ไว้ และมูลค่าส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือจากนี้ น่าจะทำได้ประมาณ 18,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีขยายตัวเป็นลบ 8% แต่ถ้าได้มากกว่านี้ การติดลบจะลดลง แต่ถ้าจะให้ขยายตัวเป็นบวก แต่ละเดือนต้องทำให้ได้ 21,988 ล้านเหรียญฯ ซึ่งน่าจะยังเป็นไปไม่ได้ในปีนี้.